วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563

จ่าย 3 ศพเขาตะเว รายละ 5 แสนบาท

จ่าย 3 ศพเขาตะเว รายละ 5 แสนบาท



จ่ายเงินเยียวยาแก่ทายาทผู้ถูกยิงตาย 3 ศพ บนเทือกเขาตะเว โดยสายวันที่ 21 ธ.ค. พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. นายเอกรัฐ หลีเส็น ผวจ.นราธิวาส และ พ.อ.ธีร์พัชร์ เอมพันธ์ ผบ.ทพ.ที่ 45 เดินทางลงพื้นที่หมู่ 8 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อเยี่ยมเยียนและมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ทายาทครอบครัวของนายฮาพีซี มะดาโอะ อายุ 24 ปี นายบูดีมัน มะลี อายุ 26 ปี และนายมะนาซี สะมะแอ อายุ 27 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต บนเทือกเขาตะเว เนื่องจากสำคัญผิดว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยทั้ง 3 ครอบครัวจะได้รับเงินเบื้องต้น ครอบครัวละ 500,000 บาท ตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555 (ระเบียบ กพต.)
วันเดียวกันนายสายัณห์ สุขจันทร์ ประธานศูนย์พิทักษ์ธรรม พร้อมคณะเดินทางเข้าพบผู้สื่อข่าวที่ สนง.ไทยรัฐ ยื่นหนังสือชี้แจงกรณีทหารยิงชาวบ้านเสียชีวิต 3 ศพบนเทือกเขาตะเว ต.บองอ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ว่า ทางศูนย์พิทักษ์ธรรม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากญาติผู้ตาย และชาวบ้านในพื้นที่ให้ช่วยประสานหนังสือพิมพ์และสำนักข่าวต่างๆที่ลงข่าวผู้ตายเป็นโจร ทำให้รู้สึกว่าเขาโดนตัดสินไปแล้ว จึงให้ทางศูนย์พิทักษ์ธรรม ช่วยเป็นตัวกลางในการเรียกร้องสิทธิให้กับญาติ จึงเดินทางมาพบผู้สื่อข่าว เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหา ความจริงแล้วจุด
เกิดเหตุเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านหาของป่า หรือเป็นแหล่งหาของกิน ถ้าเป็นความผิดเรื่องตัดไม้ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย แต่อยากบอกว่าบริเวณนั้นเหมือนบ้านของพวกเขา เป็นแหล่งหากินเป็นเสมือนบ้าน ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะห้ามเข้าบ้านตัวเองถามว่ามีความเห็นอย่างไรที่ทหารห้ามขึ้นเทือกเขาตะเว ประธานศูนย์พิทักษ์ธรรม กล่าวว่า เหมือนอย่างที่บอก เป็นการห้ามเข้าบ้านตัวเอง เขาตะเวเป็นเสมือนบ้าน ชาวบ้านย่อมต้องเข้าออกได้ ชาวบ้านอยู่กับป่าก็ต้องเข้าป่า คนเมืองอยู่กับห้างก็ต้องเข้าห้าง ชาวบ้านเข้าป่าเป็นเรื่องปกติ เป็นวิถีชีวิตของพวกเขา ส่วนที่ชาวบ้านทำผิดไปตัดไม้ทำลายป่าก็ว่าไปตามผิด แต่ไม่ควรที่จะไปห้ามในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นญาติเชื่อเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ เพราะจากพยานหลักฐานศพที่ตายไม่มีการปะทะแต่อย่างใด เหมือนเป็นการคุกเข่ายอมจำนนแล้วถอดเสื้อผ้าหมด แสดงให้เห็นว่าตัวเอง ไม่มีอาวุธ และวิถีกระสุนสามารถพิสูจน์ได้ว่าถูกยิงในระยะกระชั้นชิด ชาวบ้านรับไม่ได้กับการกระทำของเจ้าหน้าที่
ถามอีกว่าจากเหตุการณ์ครั้งนี้ชาวบ้านอยากให้มีมาตรการแก้ไขอย่างไร นายสายัณห์กล่าวว่า ชาวบ้านเห็นด้วยกับข้อเสนอของศูนย์พิทักษ์ธรรม ที่จะเรียกร้องว่าให้มีการสอบสวนแบบพิเศษ เพราะเวลาทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง บังคับใช้ ก.ม.กับชาวบ้าน ก็ใช้กฎหมายพิเศษ ไม่มีหมายค้น ไม่มีหมายจับ จะบุกเข้าบ้านใครเมื่อไหร่ก็ได้ แต่นี่ชาวบ้านโดนฆ่าตาย เรียกร้องให้สอบสวนพิเศษด้วย ไม่ใช่รอ 4 ปี 5 ปี กว่าจะตัดสิน ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร ในพื้นที่พิเศษชาวบ้านจึงเสนอว่า ควรสอบสวนแบบพิเศษด้วย เช่น คณะกรรมการสอบสวนต้องมาจากส่วนของประชาชน 60% ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งกรรมการสอบสวนกันเอง
นายสายัณห์กล่าวอีกว่า ขณะที่การส่งฟ้อง ทางสำนักงานอัยการต้องมีแผนกพิเศษ ที่จะรับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน และไม่ใช้เวลาเนินนานเกินไป ศาลก็ต้องมีแผนกพิเศษเกี่ยวกับคดีที่ทางรัฐละเมิดกับประชาชน คล้ายกับคดีพิเศษทางการเมือง ส่วนการเยียวยาก็ต้องสมเหตุสมผลที่สุด ต้องให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบอย่างแท้จริง ต้องเปิดเผยตัวผู้กระทำผิดและได้รับโทษอย่างไรบ้าง ไม่ใช่วันนี้ออกมายอมรับว่าทำผิด ผ่านไป 2-3 ปี เรื่องก็เงียบหาย “ที่สำคัญหน่วยงานต้องรับผิดชอบ ขอโทษญาติและรับผิดตามขบวนการของกฎหมาย หน่วย ฉก.ทพ.45 ลูกน้องของท่านไปยิงคนอื่นตาย ท่านต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ออกมาแก้ตัวต่าง ควรย้ายหน่วย ฉก.ทพ.45 ออกจากพื้นที่ เพราะยิ่งมีหน่วยนี้อยู่ ยิ่งสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับพี่น้องประชาชน” ประธานศูนย์พิทักษ์ธรรมกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น